มาตรการเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) มีความจำเป็นแล้วหรือยัง?

Our Article

มาตรการเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) มีความจำเป็นแล้วหรือยัง?

year 2020

Share on facebook
Facebook
Share on google
Google+
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on whatsapp
WhatsApp

เขียนโดย คุณนนทฤทธิ์ เพชรานนท์

ภาพโดย คุณญาดา พรชำนิ

เมื่อโดนกักกันตัวเอง เเละเว้นระยะห่างทางสังคม ในประเทศไทยเราผู้ที่ความพร้อมด้านทุนทรัพย์ เเละมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นเเหล่งสามารถดูเเลตนเองท่ามกลางการเเพร่ระบาดของเชื้อโควิดเเละอาจจะไม่ต้องกังวลใจ เหมือนใครอีกหลายๆ คน ในสังคมว่า “กูติดเเล้วยังวะ?” เเต่สำหรับกลุ่มคนเปราะบางเเล้วคงเป็นเรื่องรอง จากการหารายได้ในเเต่ละวัน เพื่อดำรงชีวิต จึงเป็นโจทย์เเก่คนในสังคมเเละในประเทศว่าเราจะจะทำอย่างไรให้กลุ่มเสี่ยง กลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มคนที่ยากลำบากในการดำรงชีวิตสามารถดำรงชีวิตได้ท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้ อีกทั้งทำอย่างไร ให้สามารถ ลดการเเพร่ระบาดเชื้อ ป้องกัน ควบคุมการเเพร่ระบาดเชื้อได้? . ในวันนี้ทีม Urban Futures and Policy จะมาพูดถึงผลกระทบและมาตรการการเยียวยาต่างๆถึงปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) โดยที่เราจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนเปราะบางในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสนี้สูงกว่าประชากรกลุ่มอื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 70 ปีซึ่งในกรุงเทพมหานคร ที่มีราว 1.1 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 1 แสนคน หรือร้อยละ 10.8 ที่อาศัยอยู่คนเดียวตามลำพังหรืออยู่ลำพังกับคู่สมรส รวมถึงกลุ่มแรงงานหาเช้ากินค่ำ หรือกลุ่มคนไร้บ้าน (Homeless Population) ที่อาจไม่สะดวกในการสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ ผ่านการยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน ประเทศแคนาดา และประเทศไทยของเราว่าตอนนี้มีกลุ่มไหนที่ให้ความสำคัญถึงประเด็นนี้และพยายามที่จะช่วยเยียวยากลุ่มคนเปราะบางอยู่บ้าง

กรณีศึกษาแรกคือประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นจุดกำเนิดของไวรัสโควิด-19 จึงได้มีมาตรการเยียวยาที่ครอบคลุมในทุกมิติ รวมถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ในด้านความเพียงพอและระดับการเข้าถึงอาหารของทุกครัวเรือนโดยมีการร่วมผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ และหน่วยงานในท้องถิ่นของนครอู่ฮั่นร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจว่าในช่วงเวลาที่ยากลำบาก จากนั้นวางระบบศูนย์กระจายและขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สร้างมาตรฐานจัดและแพคสินค้าได้ รวมทั้งระบบขนส่งครอบคลุม การแต่งกายและการดูแลขนส่งได้มาตรฐาน ขณะเดียวกันวางระบบกระจายสินค้าตามที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งภายในอู่ฮั่นมีการแบ่งเขตชัดเจนโดยให้พนักงานขนส่งไปส่งตามจุดที่กำหนดไว้ และมีตัวแทนเขตหรืออาสาสมัครนำสินค้าไปส่งต่อให้กับประชาชนในเขตที่กำหนด ซึ่งร้านสะดวกซื้อ CP Freshmart ในจีนได้มีการวางระบบการส่งถึงบ้านอย่างรัดกุม การ“กระจายสินค้า” จากโรงงานเพื่อส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ใช้รูปแบบรวบรวมอาสาสมัครในแต่ละเขตพื้นที่และชุมชนทั่วนครอู่ฮั่นจำนวน 11,000 คน มาช่วยในการกระจายสินค้า โดยอาสาสมัครจะมารับสินค้าจากจุดหลักในการกระจายสินค้าและนำไปส่งต่อให้แก่พี่น้องในชุมชน ซึ่งอาสาสมัครเหล่านั้นจะรับใบสั่งซื้อหรือ Order ในวันถัดมากลับมาด้วย ซึ่งนอกจากซีพีในอู่ฮั่นจะดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของอู่ฮั่นในการจัดส่งอาหารให้ถึงมือประชาชนแล้ว ยังร่วมส่งอาหารให้อาสาสมัครด้วย

ต่อมาที่กรณีศึกษาจากประเทศแคนนาดา ซึ่งมีการเรียกร้องรัฐบาลจากภาคประชาชนถึงการแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารในเมือง ไม่ว่าจะเป็นปริมาณอาหารหรือระดับความเข้าถึง...รัฐมนตรีกระทรวงสังคมของเเคนาดาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนไร้บ้าน รัฐบาลกลางได้มีการประสานงานกับท้องถิ่นในการดูเเลกลุ่มคนเหล่านี้ ที่ประสบความยากลำยากในการใช้ชีวิต อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเเก่การติดเชื้อจึงต้องเร่งรีบในการเรียกลุ่มคนดังกล่าวเข้ามาตรวจเชื้อ นอกจากนี้ผู้ไร้บ้านห้ากลุ่มใหญ่ในเมืองออตโตวา (Ottawa) ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการกำหนดมาตรการรักษาสุขภาพเเก่ผู้อาศัยในย่านดังกล่าวร่วมกัน มากไปกว่านั้นทางรัฐบาลยังมองเห็นถึงความเสี่ยงของกลุ่มคนไรบ้าน (Homeless Population) และได้จัดตั้งทีมที่ลงไปตรวจหาเชื้อให้กับคนกลุ่มนี้อย่างทั่วถึง รวมถึงการทำความสะอาดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในพื้นที่สาธารณะในอีกระดับหนึ่ง นอกจากนี้ประเทศแคนาดายังมีการกระจายบทบาทหน้าที่เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างทั่วถึงโดยมีการกระจายงบประมาณจากรัฐบาลไปสู่กลุ่มองค์กรสาธารณะกว่า 160 องค์กรที่ช่วยเหลือ ดูเเลกลุ่มคนเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มคนไร้บ้าน ให้สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีได้อย่างทั่วถึง เพื่อนำมาช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางท่ามกลางการเเพร่ระบาดของโควิด

วกกลับมาที่ประเทศไทย ที่ถึงแม้ว่ามาตรการการเยียวยาภายใต้มิติของความมั่นคงทางอาหารของทางรัฐบาลนั้น จะยังคงไม่ครอบคลุม แต่ว่ามีโครงการที่น่าสนใจจากหลายๆหน่วยงานที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ โดยเริ่มจากกรณีศึกษาแรกจากสวนผักคนเมืองหรือทีมงานของ #CityFarmMarket ภายใต้เครือข่ายของเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้สร้างกิจกรรม ปลูกเมือง ปลูกชีวิต ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นแหล่งอาหารของคนเมืองในยาม #COVID19 นี้ ขึ้นมาเพื่อเพิ่มแนวทางการรับมือการเข้าถึงอาหารที่ดี โดยการเพิ่มพื้นที่เชื่อมโยงและการกระจายอาหารในเมืองภายใต้โครงการปันอยู่ปันกินที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อเยียวยากลุ่มผู้เปราะบางโดยเฉพาะ เช่น กลุ่มแรงงานนอกระบบ ชุมชนเครือข่ายสลัม 4 ภาค และผู้ป่วยติดเตียง รวมทั้งหมดประมาณ 2,100 คนที่ขาดรายได้เนื่องจากการประกาศหยุดงาน ซึ่งส่งผลให้ขาดอาหาร รวมถึงยังช่วยเกษตรกรรายย่อย มีผักที่ปลูกต้องเก็บเกี่ยวแล้ว แต่ไม่มีที่ไปเนื่องจากร้านค้า โรงแรม ร้านอาหารปิด ไม่มีตลาดที่ต้องการซื้อสินค้าของผู้ผลิตกลุ่มนี้ส่งผลให้ไม่สามารถกระจายอาหารได้ โดยโครงการนี้จะรับผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรรายย่อย และจากชุมชนท้องถิ่น ร่วมกับการขอสมทบทุนอาหารและเงินช่วยเหลือในการเชื่อมโยงอาหารไปสู่มูลนิธิต่างๆที่ดูแลกลุ่มคนเปราะบางโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กลุ่มแรงงานนอกระบบในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 600 คน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัมสี่ ภาค จำนวน 57 ชุมชน 1,531 คน ผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องได้รับการดูแลพิเศษ 18 คน และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ รวมถึงสนับสนุนวิถีเกษตรยั่งยืนในช่วงวิกฤติให้ยังมีรายได้ต่อไปในอนาคต มากไปกว่านั้นยังมีการเสนอนโยบายโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้สูงอายุ Young Happy เครือข่ายขับเคลื่อนนโยบายรองรับสังคมสูงวัย มูลนิธิพระมหาไถ่การพัฒนาคนพิการ เครือข่าย COVID-19 Fighter เพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ เครือข่ายบริษัท กล่องดินสอ จำกัดได้จัดการเสวนาเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อให้มีการเปิดให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงแหล่งซื้ออาหาร โดยพิจารณาจัดช่วงเวลาให้บริการพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ และคนพิการก่อนเวลาทำการปกติ รวมถึงช่องทางอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากความแออัดของผู้ใช้บริการทั่วไป . . ถึงแม้ว่าในตอนนี้ประเทศไทยจะเริ่มมีมาตรการการเยียวยาด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินหรือการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยา แต่การลดรายจ่ายด้านต่างๆ รวมไปถึงการส่งเสริมให้คนเปราะบางสามารถรับมือได้ด้วยตัวเอง อย่างเช่น ด้านความมั่นคงทางอาหารนั้น ที่มีเครือข่ายชุมชนและภาคประชาสังคมต่างๆ ให้ความสนใจและตั้งใจทำงานเกี่ยวกับประเด็นนี้มานาน แต่นโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะกับพื้นที่เมือง กลับยังไม่มีความชัดเจนด้านนี้ ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลควรที่จะเริ่มให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางอาหารสำหรับกลุ่มเปราะบางในเมือง ให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืนมากขึ้น?

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.