มาตรการตรวจค้นหาเชื้อสำคัญไฉน?

our Article

มาตรการตรวจค้นหาเชื้อสำคัญไฉน?

year 2020

Share on facebook
Facebook
Share on google
Google+
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on whatsapp
WhatsApp

เขียนโดย คุณนนทฤทธิ์ เพชรานนท์

ภาพโดย คุณญาดา พรชำนิ

เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เเถลงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศไทย เป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อเพิ่มอำนาจเเก่ฝ่ายบริหารในการควบคุม จัดการ หยุดสถานการณ์ของการเเพร่ระบาดเชื้อ covid-19 ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เเละเศรษฐกิจให้กลับคืนสู่สถานการณ์ปกติในทุกมิติโดยเร็วที่สุด ซึ่งเมื่อรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นได้มีข้อกำหนดต่างๆ เช่น การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง การปิดสถานที่เสี่ยง การเสนอข้อพึงปฎิบัติสำหรับ ผู้สูงอายุเกิน 70 ปี เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี คนมีโรคซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดให้อยู่ในเคหสถาน นอกเหนือจากกลุ่มคนเหล่านี้ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่ากลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้พิการ คนไร้บ้าน ล้วนเเต่เป็นกลุ่มคนเปราะบางที่สุดในสังคม เนื่องจากพวกเขาเหล่านี้ล้วนประสบต้นทุนในการดำรงชีวิตสูงกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตในแต่ละวันแล้ว ยังต้องนำเงินไปหาซื้อหน้ากาก เจลล้างมือ ป้องกันตัวเองไม่ให้เจ็บป่วย ติดเชื้อ มิหนำซ้ำเมื่อไม่สามารถทำงานหารายได้ก็ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินที่ต่ำกว่าคนอื่น ๆ อยู่แล้ว ผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดได้สร้างความลำบากในการดำรงชีวิต การเข้าถึงเเหล่งอาหาร ยา เเละการหาเลี้ยงชีพมากกว่ากลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม และรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งในการออกมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคแก่กลุ่มคนเหล่าเป็นพิเศษ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และหากติดเชื้อโรคแล้วจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งนำไปสู่คำถามที่ว่ามาตรการการป้องกันโรคและการตัดสินใจของผู้นำประเทศ ส่งผลต่อสุขภาพของคนในประเทศท่ามกลางการระบาดของเชื้อโควิดอย่างไร? หลังจากที่ทีม Urban Futures ได้นำเสนอมาตรการของประเทศสิงคโปร์ไปแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึงกรณีศึกษาของต่างประเทศในด้านมาตรการด้านสุขภาพ ซึ่งได้ดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันระยะก่อนเกิดโรค การป้องกันระยะเกิดโรค การควบคุมโรค การป้องกันการแพร่เชื้อโรค ยกตัวอย่าง มาตรการตรวจผู้ติดเชื้อประเทศเกาหลีที่มีการใช้กันมาตรการการตรวจคัดหาเชื้อโรคแบบ Mass Testing คือ ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อในวงกว้างเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อและทำการรักษาต่ออย่างไว้ที่สุด โดยเจ้าหน้าที่จะติดต่อไปยังประชาชนเพื่อนัดหมายเข้ารับการตรวจค้นหาเชื้อ เเละจะส่งผลตรวจกลับไปให้ แม้ว่าผู้ได้รับการตรวจค้นจะพบว่าไม่ติดเชื้อ นอกจากนี้ประเทศเกาหลีก็ได้อำนวยความสะดวกเเก่ประชาชนในการตรวจหาเชื้อเเบบ drive thru เเก่ประชาชน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และแพทย์ก็แนะนำให้ผู้รับการตรวจกักกันตัวเองอยู่ที่พักเป็นเวลาสองอาทิตย์ ซึ่งเกาหลีสามารถตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อได้วันละกว่า 10,000 คน โดยมีการตรวจค้นหาเชื้อกับประชาชนเกาหลีกว่า 370,000 คน นอกจากนี้รัฐบาลได้มีการแจกจ่ายอาหารแห้ง เครื่องดื่ม หน้ากาก เครื่องใช้สอยส่วนตัวที่จำเป็นระหว่างกักกันตัว 14 วัน เพื่อลดการพบปะกับผู้คน รวมถึงการจัดทำแผนที่ติดตามผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างอิสระ แต่ด้วยกลยุทธ์แบบการค้นหาเชื้ออย่างวงกว้าง ทำให้ยิ่งพบผู้ติดเชื้อเร็ว และทำการรักษาผู้ติดเชื้อได้ตั้งแต่ในระยะแรก ทำให้การรักษาไข้หายได้อย่างรวดเร็ว

ข้ามฝากไปยังภูมิภาคยุโรปที่กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดใหม่ของโลก คือ ประเทศอิตาลี ผู้นำท้องถิ่นหลายเมืองของประเทศอิตาลี ได้ Live Facebook ขอความร่วมมือ เรียกร้องจากประชาชนในการกักกันตัวเองอยู่ในบ้านอย่างเคร่งครัด ซึ่งมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เป็นสิ่งที่ขัดต่อความรู้สึกของชาวอิตาลีเป็นอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาชอบสังสรรค์และเข้าสังคม รวมถึงรักการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นชีวิตจิตใจแต่เหตุผลเบื้องหลังการที่ผู้นำท้องถิ่นหลายเมืองต้องออกมากำชับการให้พักอาศัยอยู่แค่ในห้องพัก เรียกร้องให้ผู้สูงอายุไม่ออกนอกอาคารที่พักอาศัยโดยไม่จำเป็นนั้นเพราะประเทศอิตาลีมียอดผู้ป่วยและยอดผู้เสียชีวิตซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศอิตาลีมีประชากรสูงอายุเป็นจำนวนมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น จุดเปลี่ยนของอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้เสียชีวิตเกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 โดยรัฐบาลอิตาลีเปลี่ยนนโยบายในการตรวจผู้ติดเชื้อ คือ จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการตรวจเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิดที่แสดงอาการของโรคเท่านั้น ซึ่งเป็นการจำกัดสำหรับคนที่ไม่มีอาการหรือผู้ที่มีอาการป่วยไม่รุนแรงในการเข้าตรวจค้นหาเชื้อ กลยุทธ์การตรวจสอบหาเชื้อที่เปลี่ยนไปส่งผลให้อิตาลีมีการเพิ่มขึ้นของผู้เสียชีวิตจาก 3.1% เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นเป็น 7.2% ในวันที่ 17 มีนาคม ซึ่งสองประเทศที่ตัดสินใจเลือกนโยบายในการตรวจผู้ติดเชื้อที่เเตกต่าง ส่งผลให้เกิดผลลัพท์ที่เเตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สำหรับประเทศไทยเองนั้นรัฐบาล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ที่มีสิทธิตรวจหาโควิด-19 ฟรี โดยจะต้องเข้าเกณฑ์ของเป็นผู้มีอาการไข้ 37.5 องศาขึ้นไป ร่วมกับมีอาการ เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ มีประวัติเสี่ยงในช่วง 14 วัน ก่อนมีอาการ เช่น เดินทางมาจากเขตติดโรค พื้นที่ที่มีการระบาด ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดผู้เดินทางจากเขตติดโรค พื้นที่ที่มีการระบาด สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัย ยืนยัน เป็นบุคลากรทางการเเพทย์ที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ซึ่งมีแนวทางคล้ายกับของประเทศอิตาลี โดยสามารถไปโรงพยาบาลได้ตามสิทธิทั้งบัตรทองและหลักประกันสุขภาพ ยกเว้นกรณีฉุกเฉินเข้าได้ทุกโรงพยาบาลฟรี 72 ชม. และหากตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที ยืนยันไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาลฟรีหมด โดยหากรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์ หรือปรึกษาสามารถโทรมาแจ้งผ่านสายด่วน 1422 เเต่ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ หากต้องการไปตรวจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ที่ผ่านมามีประชาชนหลายคนได้เดินทางไปตรวจเองที่โรงพยายาบาล หรือการเข้าตรวจเเบบ drive thru ที่มีราคาตั้งเเต่ 3,000 กระทั้ง 10,000 บาท เเล้วประชาชนที่มีทุนทรัพย์ต่ำและ อยากที่จะเข้ารับการตรวจเพื่อทราบผลก่อนจะทำอย่างไร ?

การระบาดของโรคโควิดยิ่งสะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเหล่านี้มีความสามารถเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขต่ำกว่าคนกลุ่มอื่นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าการหาซื้อหน้ากากอนามัย การหาซื้อเจลล้างมือ หรือการที่เอกชนจัดทำแผนที่ติดตามผู้ป่วยโควิด-19 รวมไปถึงแม้กระทั่งการเข้าถึงบริการของการตรวจโรคกรณีสงสัยว่าตนเองจะติดหรือไม่ และซึ่งบางทีพวกเขาเหล่านี้อาจเเสดงอาการของการติดเชื้อในระยะท้ายๆ อาจจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพร่างกาย อาจจะส่งผลต่อการเสียชีวิตตามมาได้ จากการอ่านข้อมูลมาตรการต่างๆของทั้งกรณีของในไทยและต่างประเทศนั้น ทำให้เกิดการเปรียบเทียบอย่างชัดเจน ทางทีม Urban Futures and Policy จึงอยากที่จะมาชวนคุยว่าแล้วเราควรจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจได้ง่ายที่สุด ?

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.