ทำอย่างไรถ้าสินเชื่อที่มีเข้าไม่ถึงและสิทธิ์มาตรการเยียวยา 5,000 บาท…ที่ไม่ได้รับ?

Our Article

จากสินเชื่อที่เข้าไม่ถึงและสิทธิ์มาตรการเยียวยา 5,000 บาท ... ที่ไม่ได้รับ

year 2020

Share on facebook
Facebook
Share on google
Google+
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on whatsapp
WhatsApp

เขียนโดย คุณนนทฤทธิ์ เพชรานนท์

ภาพโดย คุณญาดา พรชำนิ

หลังจากที่ Urban Futures and Policy ได้นำเสนอ บทความ คนจนเมือง... ผู้อยู่ล่างสุดในห่วงโซ่ Covid-19 ไปแล้วนั้น ในงานวิจัยบทสรุปผลสำรวจ “คนจนเมืองในภาวะโควิด-19 และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล”โดยคณะนักวิจัยจากโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง และมี ศ.ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เป็นหัวหน้าชุดโครงการฯได้นำเสนอผลการศึกษามีประเด็นที่น่าให้ความสำคัญเพิ่มเติมคือการเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐเนื่องมาจากมาตรการผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าส่งผลให้ไม่สามารถประกอบอาชีพและหารายได้ตามปกติจึงทำให้รายได้ลดลง โดยผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 60.24% นั้นมีรายได้ลดลงเกือบทั้งหมดซึ่งเป็นผลจากมาตรการรัฐบาล โดยมีคนจนเมืองบางส่วนถูกนายจ้างให้หยุดงานโดยสิ้นเชิง (18.87%) บางส่วนนั้นถูกนายจ้างให้ลดเวลาทำงานและรายได้ลดลง โดยยังมีประชากรกว่าร้อยละ 18 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอาชีพค้าขายหาบเร่แผงลอยได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐบาลไม่สามารถค้าขายได้เพราะพื้นที่ที่ค้าขายถูกจำกัด รวมไปถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระเช่น ช่างต่างๆ คนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง คนขับรถรับจ้าง รถตู้ ฯลฯ ก็ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีผู้ว่าจ้างน้อยลงหรือไม่มีเลย (18.44%) และยังมีคนจนเมืองจำนวนมากยังไม่ได้รับช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐ

โดยกลุ่มคนเหล่านี้ล้วนเป็นกลุ่มเปราะบางต้องประกอบอาชีพนอกบ้าน โดยคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 79 ตอบว่า อาชีพที่ตัวเองทำนั้นไม่สามารถปรับตัวมาทำงานที่บ้านได้ ไม่สามารถทำงานจากบ้าน (Work from home) ได้เหมือนอาชีพกลุ่มอื่นๆ ส่งผลให้คนจนเมืองมีรายได้ที่ลดลงกว่า 70% รวมถึงประสบความเดือดร้อนในรูปแบบต่างๆเช่น ไม่มีเงินชำระหนี้สิน ทั้งหนี้สินนอกระบบและหนี้สินยานยนต์กว่าร้อยละ 54.41 มากไปกว่านั้นยังมีกลุ่มคนเปราะบางที่ไม่มีรายได้ถึงขนาดประสบปัญหาการกินอยู่ในชีวิตประจำวัน (29.83%) ซึ่งส่วนหนึ่งของประชากรกลุ่มนี้ดำรงชีพอยู่ได้จากการช่วยเหลือจากภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปที่ทำอาหารแจกจ่ายให้ผู้เดือดร้อนโดยปัญหาความไม่คล่องตัวทางการเงินจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่กล่าวไปข้างต้น ส่งผลให้เกิดการกู้หนี้ยืมสินเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 33.82 และยังมีการนำข้าวของไปจำนำเพื่อนำเงินออกมาใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย นอกจากนี้คนจนเมืองจำนวนมากยังคงไม่ได้รับช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐ แม้ว่าจำนวนของผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่ง (66.67%) จะพยายามลงทะเบียนในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกันแล้วก็ตามแต่มีเพียงประมาณร้อยละ 22 เท่านั้นที่ผ่านการพิจารณาเพื่อรับเงินช่วยเหลือจำนวน 5,000 บาท แม้แต่มาตรการผ่อนปรนหนี้ของธนาคาร ไฟแนนซ์ หรือบัตรเครดิต มีแค่ 44% เท่านั้นที่ได้รับประโยชน์เนื่องจากประชากรกว่า 30% ของผู้แบบสอบถามนั้นไม่ได้รับประโยชน์เพราะหนี้ของตนนั้นเป็นหนี้นอกระบบ

จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจการเข้าถึงบริการ ทางการเงินภาคครัวเรือนเป็นประจำทุก 2 ปี โดยผลสำรวจในปี 2561 พบว่า วัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ของการใช้หนี้นอกระบบ คือ เพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นและชำระหนี้นอกระบบรวมกันกว่า 87% ซึ่งจุดประสงค์หลักคือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบุตรเนื่องจากการใช้เเหล่งหนี้นอกระบบสามารถได้เงินเร็ว สะดวก และไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก นอกจากนี้ปัญหาจากการใช้บริการสินเชื่อ หากพิจารณาเฉพาะครัวเรือนที่ใช้บริการสินเชื่อและมีปัญหาในการใช้บริการจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พบว่า ครัวเรือนที่ใช้บริการสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีปัญหาจากเงื่อนไขหรือขั้นตอนการขอสินเชื่อมีความยุ่งยากหรือสาขามีน้อยหรือตั้งอยู่ห่างไกล รวมถึงอัตราดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมสูงที่เกินไป ส่วนสาเหตุที่ครัวเรือนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อจากทั้งธนาคารพาณิชย์และ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ คือ ฐานะการเงินไม่ดีหรือรายได้ไม่เพียงพอจึงไม่กล้าไปติดต่อกับผู้ให้บริการโดยเกรงว่าจะถูกปฏิเสธ ด้วยความคล่องทางการเงินที่ต่ำ บวกกับการไม่ได้รับสิทธิ์มาตรการเยียวยา 5,000 บาทและภาระหนี้สินต่างๆที่ไม่หยุดนิ่ง ด้วยเหตุนี้หนี้นอกระบบจึงเป็นทางเลือกแหล่งเงินกู้เคียงคู่กับสังคมไทยสำหรับคนไทยบางกลุ่มมานานแสนนานท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งสะท้อนความเหลื่อมล้ำของต้นทุนในการดำรงชีวิตของประชาชนที่ต่างกันเป็นอย่างมาก เมื่อวันศุกร์ที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา นายกรัฐมมนตรีได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจได้ประกาศว่าจะออกจดหมายเปิดผนึก ถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 ท่าน เพื่อร่วมกันมือช่วยเหลือประเทศ ซึ่งประเด็นที่สำคัญและน่าจับตามองของการขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง มาร่วมแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจกับรัฐบาลนั้นคือ ความร่วมมือนี้จะช่วยให้กลุ่มคนทุกกลุ่มได้รับความช่วยเหลือได้หรือไม่?

โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางหรือกลุ่มคนจนเมือง รวมถึงแรงงานนอกระบบที่ไม่สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงชีพและครอบครัวมาสักระยะแล้ว ประเด็นถัดมา คือ จะทำอย่างไรให้บุคคลที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกสามารถมาช่วยเหลือ สร้างโอกาส สร้างงาน สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังท้องถิ่นต่างๆ เสริมสร้างทักษะใหม่ที่สำคัญต่ออนาคต และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ๆ ให้แก่ กิจการขนาดเล็ก ขนาดกลาง และแรงงานนอกระบบที่เป็นกลุ่มที่เปราะบางและต้องการความช่วยเหลือโดยเร่งด่วนที่สุด
.

.
ทางทีม Urban Futures and Policy อยากจะชวนทุกท่านร่วมแสดงความคิดเห็นว่าท่านหวังอยากจะเห็นความร่วมมือระหว่างมหาเศรษฐีและรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ด้านไหนที่จะช่วยแก้ปัญหาปากท้องและปัญหาเศรษฐกิจของไทยได้?

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.