ความเปราะบางของอุตสาหกรรมและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการไทย

Our Article

ความเปราะบางของอุตสาหกรรม
แรงงานในภาคการท่องเที่ยว บริการไทย...
และการปรับใช้แนวคิดความพลวัต

year 2020

Share on facebook
Facebook
Share on google
Google+
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on whatsapp
WhatsApp

เขียนโดย คุณนนทฤทธิ์ เพชรานนท์

ภาพโดย คุณญาดา พรชำนิ

เมื่อรัฐบาลหลายประเทศ รวมถึงไทยมีการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 อย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นมาตรการปิดเมือง (Lockdown) และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักอย่างไม่ทันตั้งตัว รวมถึงรายได้ของธุรกิจลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจมีผลให้ธุรกิจที่ไม่สามารถประบตัวต่อวิกฤตได้ทันจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวหรือปิดตัวลง มากไปกว่านั้นยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานผ่านชั่วโมงการทำงานที่ลดลง การหยุดงานชั่วคราว หรือการเลิกจ้างงาน

อ้างอิงจาก KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร พบว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน กลุ่มแรงงานที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างฉับพลันสูงสุดคงหนีไม่พ้นแรงงานที่อยู่นอกระบบ เนื่องจากการจ้างงานมากกว่าครึ่งหนึ่งในตลาดแรงงานไทยนั้นถูกจัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะในธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร บันเทิงและนันทนาการ ค้าปลีกและค้าส่ง ที่มีการจ้างงานนอกระบบสูงกว่าค่าเฉลี่ยและยังเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 สูงที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น การจ้างงานกว่า 70% ในโครงสร้างแรงงานไทยเป็นการจ้างงานในธุรกิจ SME ที่มักมีสถานะการเงินและทางเลือกในการระดมทุนจำกัดกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ อีกทั้งการจ้างงานของ SME ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 หากพิจารณาว่าภาคธุรกิจใดจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดจากวิกฤติในครั้งนี้นั้น ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจว่ามีความอ่อนไหวเพียงใดต่อภาวะเศรษฐกิจและมาตรการของภาครัฐ โดยใช้เกณฑ์ 3 ด้านในการพิจารณาความรุนแรงของผลกระทบ ได้แก่ (1) ธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็น (discretionary spending) ซึ่งจะถูกตัดออกจากการใช้จ่ายเป็นลำดับต้น ๆ ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย (2) ความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจจากที่บ้าน (work from home) และ (3) ความสามารถในการขายสินค้าหรือบริการแก่ลูกค้าภายใต้การรักษาระยะห่างทางสังคม (value delivery under social distancing) การประเมินภายใต้เกณฑ์นี้พบว่า ภาคธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบต่อการจ้างงานมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ธุรกิจบันเทิงและนันทนาการ การขนส่ง การค้าส่งและค้าปลีก รวมถึงธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์

และจากการประเมินสถานการณ์การจ้างงานไทยภายใต้สถานการณ์วิกฤต COVID-19 ของทาง KKP Research พบว่าหากสถานการณ์การระบาดชะลอลงภายในสิ้นไตรมาส 2 แต่ยังคงมีมาตรการปิดเมืองบางส่วนต่อเนื่องในไตรมาส 3 จะส่งผลให้มีการเลิกจ้างงานหรือถูกพักงานโดยไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก COVID-19 อีกกว่า 4.4 ล้านคน และมีผลให้การว่างงานโดยรวมเพิ่มสูงขึ้นเป็น 4.9 ล้านคนหรือคิดเป็น 13.2% ของกำลังแรงงานไทย นอกจากนี้ จากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา ได้ประเมินว่าภายในเดือนมิถุนายนจะมีแรงงานตกงานประมาณ 7 ล้านคน และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่หากการระบาดยืดเยื้อไปจนถึงช่วงครึ่งหลังของปี จะส่งผลให้มีจำนวนแรงงานที่ต้องตกงานสูงกว่าที่ประเมินไว้และผลกระทบจะรุกลามไปยังธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจส่งออกขนาดใหญ่ นอกจากนี้ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทยที่มีการพึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก อีกทั้งภาคส่งออกและการท่องเที่ยวยังมีความเชื่อมโยงกับประเทศจีนสูงอีกด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือรายได้จากการส่งออกของไทยไปจีนคิดเป็น 12% ของการส่งออกทั้งหมด และกว่า 28% ของรายได้ที่มากจากการท่องเที่ยวทั้งหมดนั้น มาจากประเทศจีนเช่นกัน ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ช่วยพยุงขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศท่ามกลางความผันผวนและความท้าทายของปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกมาหลายปี จึงไม่น่าแปลกใจที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้จากการวิกฤติในครั้งนี้ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศจีน

ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่มีการพึ่งพาภาคธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งในสัดส่วนที่สูงเกินไป โดยเฉพาะเศรษฐกิจท้องถิ่นรายจังหวัด ซึ่งนับเป็นโจทย์สำคัญสำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ในการค้นหาแนวทางการเพิ่มความพลวัตทางเศรษฐกิจ (Resilience Economics) ของประเทศไทย เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้ฟื้นฟูกลับมาดีขึ้นอย่างยั่งยืน
.
.
แล้วทุกท่านคิดว่าธุรกิจใดที่จะช่วยลดความเปราะบางของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้ในอนาคต และกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ประเภทใดบ้างที่จะช่วยเพิ่มทักษะให้กับแรงงานไทยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในอนาคตได้เป็นอย่างดี ?

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.