งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ การวางแผนและผังเมือง และการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อส่งเสริมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเมืองสำหรับทุกคน

Our Article

งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ
การวางแผนและผังเมือง
และการออกแบบสถาปัตยกรรม
เพื่อส่งเสริมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเมืองสำหรับทุกคน

year 2025

Share on facebook
Facebook
Share on google
Google+
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on whatsapp
WhatsApp

ภาพที่ 1 ภาพถ่ายรวมของผู้เสวนาและผู้บรรยาย

หน่วยวิจัยด้านอนาคตและนโยบายเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat University Research Unit in Urban Futures & Policy Research Unit หรือ UFP) มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความยั่งยืนและความสามารถในการปรับตัวของเมืองผ่านการวิจัยแบบสหวิทยาการและความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นการวิจัยแบบหลากหลายสาขาเพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวและความยั่งยืนของเมือง ภารกิจของหน่วยงานนี้คือการส่งเสริมชุมชนเมืองให้สามารถปรับตัวและเติบโตได้ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างงานวิชาการและการนำไปปฏิบัติได้จริง เพื่อเตรียมเมืองให้พร้อมสำหรับความท้าทายในอนาคต ความพยายามเหล่านี้ทำให้ หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat University Research Unit in Urban Futures & Policy Research Unit หรือ UFP) ร่วมกับ องค์กร START International (หรือ Global Change System for Analysis, Research, and Training) ที่ทางหน่วยวิจัยฯ ได้เป็นพันธมิตรระดับภูมิภาค หรือ Regional Affiliate และโครงการ EPIC-N หรือ (Educational Partnerships for Innovation in Communities Network) ซึ่งทางหน่วยวิจัย UFP เป็นผู้ประสานงานระดับเอเชีย (Asia coordinator) ได้ร่วมจัดงาน “สัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ การวางแผนและผังเมือง และการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อส่งเสริมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเมืองสำหรับทุกคน” เป็นเวทีสำคัญที่รวบรวม ผู้นำชุมชน นักผังเมือง ผู้กำหนดนโยบาย สถาปนิก และนักวิจัยจากทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความร่วมมือ และพัฒนากลยุทธ์เชิงปฏิบัติที่ตอบโจทย์ความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม พ.ศ. 2568

งานวันศุกร์ที่ 24 มกราคม เป็นการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ การวางแผนและผังเมือง และการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อส่งเสริมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเมืองสำหรับทุกคน ซึ่งทางหน่วยวิจัยฯ ได้เชิญเกียรติจากหน่วยงานเจ้าภาพร่วมได้แก่

1) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเเละสิ่งแวดล้อม (กรมสส.) โดยได้รับเกียรติจาก นายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดี กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ให้การกล่าวต้อนรับ
2) กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยได้รับเกียรติจาก นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การกล่าวต้อนรับ
3) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนให้การกล่าวต้อนรับ
4) มูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย (ACHR) โดยได้รับเกียรติจาก คุณสมสุข บุญญะบัญชา, อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และเลขาธิการมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย (ACHR) มาบรรยายในหัวข้อ “ความท้าทายของภูมิอากาศและโอกาสในการพัฒนาชุมชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ”
5) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (NTU) โดยได้รับเกียรติจาก Asst. Prof. Dr. Perrine Hamel มาเสวนาในหัวข้อ “สถาปัตยกรรมและการวางผังเมืองสำหรับชุมชน รวมถึงโอกาสในการควบรวมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การปฏิบัติการระดับชุมชน การออกแบบ และวางผัง”
6) ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (สวทช.) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.นุวงศ์ ชลคุป ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยพลังงานคาร์บอนต่ำ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ มาบรรยายในหัวข้อ “การสร้างเมืองคาร์บอนต่ำ: ความท้าทายและช่องว่างที่ควรดำเนินการ”

ภาพที่ 2 ภาพถ่ายรวมของผู้เสวนาและผู้บรรยาย

หน่วยวิจัยฯ ได้สรุปการกล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดของเจ้าภาพร่วมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งด้านการวางแผนและการผังเมือง การออกแบบสถาปัตยกรรม การบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีแนวทางที่น่าสนใจและสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของหน่วยงานภาครัฐที่ให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและความยั่งยืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังครบรอบ 91 ปี ตลอดมา ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้นำที่มีบทบาทด้านการการเมืองการปกครอง ในขณะที่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความยั่งยืนถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญขอมหาวิทยาลัย ดังที่สะท้อนในระดับสากลว่าเราอยู่ในอันดับที่ 81 ของโลกจาก 2,000 มหาวิทยาลัยและเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทยในด้านการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันจากการประเมินคาวมก้าวหน้าของเป้าหมาย Sustainable Development Goal (SDGs) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่าการดำเนินการด้านสภาพภูมิกาศถดถอยลงอย่างมาก โดยเมื่อเทียบกับอดีต การปล่อยกาศเรือนกระจกเพิ่มขึ้นทั่วภูมิภาค หนึ่งในประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือการเชื่อมโยงกันประเด็นสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งอาจส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ อย่างไม่เท่าเทียมโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางซึ่งมีทรัพยากรจำกัด การศึกษาวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านการปรับตัวของเมืองและชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้มั่นใจว่าคนรุ่นปัจจุบันและอนาคตจะสามารถอยู่รอดต่อไปควบคู่กับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ และข้าพเจ้าเชื่อว่า งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ เรื่อง การวางแผนและผังเมือง และการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อส่งเสริมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเมืองสำหรับทุกคน ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศและการวางผังเมือง เครือข่าย รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับ

ภาพที่ 3 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและความยั่งยืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนคุณโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมาในฐานะที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1.การจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan : NAP) ที่กำหนดให้มีการวางผังเมืองที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Urban Planning for Climate Change) และการออกแบบสถาปัตยกรรมที่พร้อมรับมือต่อภูมิอากาศ (Climate-resilient architecture)

2.โครงการเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Green City) ซึ่งพิจารณาใน 4 มิติ ได้แก่ เมืองธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม เมืองพร้อมรับภัยพิบัติ เมืองขจัดมลพิษ และเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเครื่องมือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ในการบริหารจัดการเมืองเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเมืองคาร์บอนต่ำและพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เข้าร่วมโครงการ ประมาณ 400 แห่ง ในนามของกรมสส. เล็งเห็นว่าสถาบันการศึกษามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การวิจัยและการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับรัฐ การสื่อสารสาธารณะเพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ รวมถึงเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในอนาคตต่อไป

ภาพที่ 4 คุณโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวว่ากรุงเทพฯ ประสบปัญหาจากภัยจากสภาพภูมิอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะปัจจุบัน กรุงเทพกำลังประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 วันนี้มีสามประเด็นที่อยากจะพูดถึงที่ในมุมมองของกรุงเทพมหานครในการดูแลปัญหานี้

1.ปัญหา ปัจจุบันอย่างที่เราทราบกันดี คือ กรุงเทพมีพื้นที่สีเขียวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ทางกทม พยายามผลักดันการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง

2.การกระจายอำนาจ ด้วยเรื่องของฝุ่น สิ่งที่สำคัญคือเรื่องจุดกำเนิดและ ลักษณะทางภูมิประเทศ กรุงเทพมีลักษณะทางภูมิประเทศที่เป็นแอ่งก่อให้เกิดการกระจุกตัวของฝุ่นและมลพิษ ในเรื่องจุดกำเนิด ส่วนที่สำคัญ คือ การควบคุมการคมนาคมขนส่งการเดินทางในพื้นที่เมือง ปัจจุบันเราไม่มีอำนาจในการจำกัดการเข้ามาของรถบรรทุกในเมือง เราไม่สามารถกำหนดโซนคาร์บอนต่ำได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมาย เรื่องนี้ควรมีการแก้ไข

3.โอกาส นอกเหนือจากเรื่องการกระจายอำนาจที่กล่าวถึงแล้ว ในอีกมุมหนึ่ง เราทุกคนมีความสามารถในการช่วยผลักดันเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในทุก ๆ ระดับ เราควรผลักดันการพัฒนาแบบล่างขึ้นบน (Bottom up) เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้เช่น พอช ปัจจุบันมีการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างเหนียวแน่นในการสร้างกลไกในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืน กลไกเหล่านี้มีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายระดับชุมชน

ความเชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอเนื่องจากความไม่แน่นอนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
• ข้อมูลจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและปรับปรุงบ่อยขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย
• ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งเพื่อประสิทธิผลที่มากขึ้นและเพื่อความเท่าเทียม

ภาพที่ 5 คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

คุณเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้กล่าวว่า ในฐานะสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันชุมชนท้องถิ่นสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้และสามารถร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาในการทำงานร่วมกัน จึงได้ตั้งคำถามสำคัญที่หวังว่าจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ คือ “ในการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน จะทำอย่างไรให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการผลักดันการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เพื่อให้ผลลัพธ์จากการประชุมครั้งนี้สามารถไปบูรณาการร่วมกับชุมชนได้

ภาพที่ 6 คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

และปิดท้ายด้วย Dr. Jon Padgham, Executive Director at START International กับแนวความคิดแบบองค์รวมเพื่อบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ได้กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวเร่งระดับหรือกระตุ้นให้ปัญหาที่ยากจะแก้ไข (Wicked problem) อาทิเช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ประชากรและการย้ายถิ่นฐาน สุขภาพและความเป็นอยู่ สงคราม ลักธิสุดโต่ง และการคอร์รัปชั่น นั้นทวีความรุนแรงขึ้น ประเด็นเหล่านี้ส่งผลให้ปัญหานั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น และเป็นอุปสรรคในการพัฒนาแผนรับมือภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบไปหลายภาคส่วน การพัฒนาแบบองค์รวม (Holistic approach) ซึ่งมีลักษณะเป็นการบูรณาการความเชื่องโยงทั้งระบบ การพัฒนาแบบล่างขึ้นบน (Bottom up approach) สนับสนุนความเท่าเทียม ความโปร่งใส และยอมรับว่าไม่มีหนทางแก้ไขที่สมบูรณ์แบบมีเพียงแต่ร่วมมือกันหาวิธีที่สามารถแก้ไขได้แม้เพียงบางส่วน จึงเป็นแนวคิดที่สร้างความหวังในการเดินหน้าร่วมกับรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต ตัวอย่างแนวคิดแบบองค์รวม ได้แก่

1.One Health แนวคิดผสมผสานการคำนึงถึงสุขภาวะมนุษย์ สัตว์ และระบบนิเวศ เช่น มีการพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระดับความหลากหลายทางชีวภาพ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรกลุ่มเปราะบางอย่างไร

2.Nature-Based Solution แนวคิดการเพิ่มความศักยภาพของทรัพยากรที่ดินในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3.Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน เน้นลดการผลิตใหม่ เพิ่มการใช้ซ้ำ และรีไซเคิล เพื่อลดผลกระทบจากการบริโภคของมนุษย์

ในระดับภูมิภาค START International ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการนำ Regional Circular and Ecological Sphere (RCES) ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดพัฒนาโดย IGES ประเทศญี่ปุ่น มีแนวคิดผสมผสานระหว่าง Nature-Based Solution และ Circular Economy กำลังทดลองใช้ใน 6 เมืองโดย 3 เมืองในภูมิภาคเอเชียใต้ และ 3 เมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงการ EPIC Asia ที่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชน สุดท้ายนี้สิ่งที่เราต้องการนอกจากฮาร์ดแวร์อย่างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซอฟแวร์อย่างนโยบายและการศึกษา สถาบัน เรายังต้องการ Heartware นั่นคือ แรงจูงใจจากภายในเพื่อสร้างการเปลี่ยนร่วมกันในระยะยาว

ภาพที่ 7 Dr. Jon Padgham, Executive Director at START International

จากการกล่าวของทั้ง 5 ท่าน ได้สะท้อนถึงความสำคัญของการปรับตัวและการวางแผนอย่างยั่งยืนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยมีหลายฝ่ายที่ให้ความสำคัญในการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เช่น การบูรณาการความรู้จากสถาบันการศึกษา การพัฒนานโยบายที่สนับสนุนการปรับตัวของเมืองและชุมชน รวมถึงการใช้แนวคิดที่เชื่อมโยงทั้งระบบในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน เช่น ในระดับท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร ก็กำลังเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 และมีความพยายามในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและกระจายอำนาจในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันการพัฒนาชุมชนแบบล่างขึ้นบน (bottom-up approach) เพื่อสร้างความร่วมมือในระดับชุมชนในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่สำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน แนวทางที่กล่าวถึงในงานสัมมนาจึงมีความสำคัญในกระบวนการทำงานร่วมกันในการสร้างสังคมที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในทุกมิติ ทั้งในระดับนโยบาย การออกแบบสิ่งปลูกสร้าง และการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

👉👉👉โปรดติดตาม รายละเอียดและความร่วมมือใหม่ ๆ ได้จากทางหน้าเพจของ Urban Futures and Policy ต่อไป...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.